how-to-care-for-your-hamster

แฮมสเตอร์ (Hamster): แนะนำวิธีเลี้ยง อาหาร และบ้านสำหรับหนูแฮมสเตอร์

เจ้าหนูแฮมสเตอร์แก้มป่องถือเป็นอีกหนึ่งสัตว์เลี้ยงที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก เพราะด้วยขนาดรูปร่างหน้าตาอันแสนจะน่ารัก สามารถเลี้ยงได้ในบ้านที่มีพื้นที่จำกัด แถมยังไม่ส่งเสียงดังรบกวนเพื่อนบ้านอีกด้วย แต่ก่อนที่จะรับน้องๆมาดูแล เรามาทำความรู้จักลักษะนิสัยของแฮมสเตอร์ อายุขัย และวิธีเลี้ยงหนูแฮมสเตอร์กันก่อนดีกว่า เพราะการเตรียมพร้อมที่ดีย่อมช่วยให้น้องๆมีสุขภาพความเป็นอยู่ที่ดีไปด้วย

นิสัยของแฮมสเตอร์ที่ควรรู้

  • นอนกลางวัน ตื่นกลางคืน

    แฮมสเตอร์เป็นสัตว์ที่ออกหากินตอนกลางคืน จึงเป็นเรื่องปกติที่น้องๆจะนอนพักผ่อนตอนกลางวัน และจะแอคทีฟในตอนดึก

  • ชอบออกกำลังกาย

    แฮมสเตอร์เป็นสัตว์ชอบวิ่งเล่นซน โดยในแต่ละคืน น้องๆจะใช้เวลาออกกำลังกายประมาณ 3-4 ชั่วโมงเลยทีเดียว

  • กระพุ้งแก้มคือกระเป๋าเก็บของ

    แฮมสเตอร์เป็นสัตว์ชอบวิ่งเล่นซน โดยในแต่ละคืน น้องๆจะใช้เวลาออกกำลังกายประมาณ 3-4 ชั่วโมงเลยทีเดียว

  • เรื่องแทะไว้ใจหนู

    เนื่องจากฟันของแฮมสเตอร์จะยาวขึ้นอย่างต่อเนื่อง น้องๆจึงกัดแทะทุกสิ่งอย่างเพื่อลับฟัน

  • ชอบอยู่ตัวเดียว

    แฮมสเตอร์เป็นสัตว์รักสันโดษและหวงที่มาก ควรเลี้ยงน้อง 1 ตัว ต่อกรงเท่านั้นเพื่อป้องกันน้องๆต่อสู้กัน

  • ชอบขุดซ่อนตัวเอง

    แฮมสเตอร์จะขุดคุ้ยและมุดซ่อนเมื่อต้องการนอนพักผ่อน หรือเพื่อป้องกันตัวเองจากอันตราย

  • ไม่ถนัดโดนน้ำ

    แฮมสเตอร์ไม่จำเป็นต้องอาบน้ำ เพราะน้องๆจะทำความสะอาดตัวเองอยู่เสมอ ให้ใช้ทรายอาบน้ำแทนการใช้น้ำ หากต้องการอาบน้ำให้น้องจริงๆ

อายุขัยของแฮมสเตอร์

อายุขัยโดยเฉลี่ยของแฮมสเตอร์คือ 2 – 3 ปี ซึ่งอาจจะมากกว่าหรือน้อยกว่านั้นขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่นๆด้วย เช่น พันธุกรรม อาหาร สภาพแวดล้อม รวมไปถึงการเลี้ยงดู โดยทั่วไปแล้วแฮมสเตอร์พันธุ์ซีเรียนจะมีอายุยืนยาวกว่าสายพันธุ์แคระ

วิธีเลี้ยงแฮมสเตอร์

1. จัดเตรียมที่อยู่

กรงขนาดใหญ่
เลือกกรงที่มีพื้นที่กว้างขวางพอทีจะให้พวกเขาวิ่งเล่นและปีนป่ายได้อย่างคล่องตัว ควรเป็นกรงพลาสติก กรงเหล็ก หรือกรงที่ระบายอากาศได้ดี จัดวางกรงในบริเวณที่เงียบสงบ เนื่องจากน้องแฮมสเตอร์นั้นค่อนข้างจะขี้ตกใจ
รองกรง
ลักษณะของรองกรงที่เหมาะสมคือ ซับน้ำและกลิ่นได้ดี ไร้ฝุ่น นุ่มสบาย ไม่แต่งสีและกลิ่น ชนิดของรองกรงที่นิยมใช้คือ รองกรงที่ทำมาจากวัสดุธรรมชาติ เช่น ขี้เลื่อย ไม้แอสเพน และรองกรงที่ทำมาจากกระดาษ ผู้เลี้ยงควรหมั่นคอยสังเกตอาการของน้องแฮมสเตอร์ขณะใช้ เพราะน้องๆอาจมีอาการแพ้รองกรงได้
บ้านส่วนตัว
เนื่องจากน้องหนูชอบหลบซ่อนตัวเงียบๆเวลานอน บ้านหลังเล็กในกรงจึงสำคัญไม่แพ้กัน การมีบ้านที่ปกคลุมตัวเองอีกชั้นจะช่วยทำให้เขารู้สึกปลอดภัยและอุ่นใจมากขึ้น อย่าลืมปูรองกรงนุ่ม ๆ เพื่อให้น้องนอนหลับสบายไว้ด้านในด้วยนะ

2. การให้น้ำและอาหาร

แฮมสเตอร์ต้องการอาหารที่สมดุลเพื่อสุขภาพที่ดี สัดส่วนการให้อาหารที่เหมาะสมต่อวันสำหรับแฮมสเตอร์ คือ อาหารเม็ด 80% และผักผลไม้สด 20% สามารถให้กินขนมได้เป็นครั้งคราว และควรให้ในปริมาณที่น้อยเพราะขนมนั้นมีน้ำตาลและไขมันค่อนข้างสูง
อาหารเม็ด
ควรเลือกอาหารเม็ดคุณภาพสูงที่ผลิตขึ้นมาสำหรับแฮมสเตอร์โดยเฉพาะและเลือกให้เหมาะสมกับสายพันธุ์ ส่วนผสมควรประกอบไปด้วยเมล็ดธัญพืช วิตามิน และแร่ธาตุที่จำเป็นต่อร่างกาย
น้ำดื่ม
อย่าลืมเตรียมน้ำสะอาดให้น้องๆสามารถดื่มได้ตลอดวัน ควรเลือกใช้กระบอกน้ำแบบที่แขวนติดกับกรงได้

3. การออกกำลังกาย

อุปกรณ์ที่ขาดไม่ได้เลยสำหรับเจ้าหนูแฮมสเตอร์ก็คือ “วงล้อ” เพราะนอกจากจะไว้ออกกำลังกายให้หุ่นเฟิร์มแล้ว ยังช่วยกระตุ้นให้น้องๆอารมณ์ดีด้วยนะ ควรเลือกวงล้อให้มีขนาดใหญ่กว่าตัวของแฮมสเตอร์ เพื่อให้น้องๆวิ่งได้อย่างคล่องตัว วงล้อสำหรับแฮมสเตอร์พันธุ์ซีเรียนควรมีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 20-30 cm ส่วนแฮมสเตอร์พันธุ์แคระสามารถใช้ขนาดที่เล็กกว่าได้ ซึ่งควรอยู่ที่ประมาณ 15-20 ซม

4. สุขอนามัย

การอาบน้ำนั้นแทบไม่จำเป็นสำหรับน้องหนูแฮมสเตอร์เลย เนื่องจากพวกเขามักจะเลียขนทำความสะอาดตัวเองเป็นประจำอยู่แล้ว แต่ถ้าบางบริเวณบนตัวน้องหนูสกปรกมากจริงๆ ให้เช็ดทำความสะอาดบริเวณนั้นเบาๆด้วยผ้านุ่มหรือสำลีชุบน้ำหมาดๆ หลีกเลี่ยงการใช้สบู่หรือแชมพู อีกหนึ่งทางเลือกที่ดีคือ “ทรายอาบน้ำ” ซึ่งน้องๆสามารถลงไปนอนเกลือกกลิ้งโดยที่ทรายจะทำความสะอาดขนและขจัดน้ำมันส่วนเกินไปในตัว ควรเลือกทรายอาบน้ำที่ผลิตจากธรรมชาติ ไมใช้สีหรือกลิ่นสังเคราะห์

5. การดูแลสุขภาพ

เนื่องจากฟันของเจ้าแฮมสเตอร์จะยาวขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงจำเป็นต้องมีสิ่งของไว้ให้กัดแทะ ไม่เช่นนั้นน้องๆอาจจะกัดแทะกรงของตัวเองได้ ตัวช่วยที่ดีคือ “แท่งไม้สำหรับกัดแทะ” ซึ่งออกแบบมาสำหรับลับฟันโดยเฉพาะเพื่อช่วยไม่ให้ฟันยาวเกินไป ควรเลือกแบบไม้ธรรมชาติเท่านั้นนะเพื่อความปลอดภัยต่อน้องๆ

6. การเอาใจใส่

แฮมสเตอร์ก็เหมือนกับสัตว์เลี้ยงชนิดอื่นๆ ผู้เลี้ยงต้องมีเวลาให้กับพวกเขาด้วย ไม่ควรปล่อยให้น้องๆอยู่ในกรงตลอดเวลาเพราะจะทำให้เกิดอาการเครียดได้ การเล่นด้วยจะช่วยให้พวกเขามีสุขภาพจิตดี และเป็นการสร้างสายสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกันอีกด้วย

ผู้เลี้ยงควรศึกษาหาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับลักษณะนิสัย ความต้องการเฉพาะ และการเลี้ยงดูของสายพันธุ์ที่จะนำมาเลี้ยง เพราะแฮมสเตอร์แต่ละสายพันธุ์ก็มีความแตกต่างกันในด้านต่างๆ การเลี้ยงดูอย่างถูกวิธีจะช่วยให้น้องๆอยู่กับเราได้นานมากขึ้น

 

แหล่งอ้างอิง :
https://www.smalldoorvet.com/learning-center/what-to-do/dog-wont-eat https://www.burgesspetcare.com/blog/hamsters/hamster-behaviour-explained/ https://www.petmd.com/exotic/care/evr_ex_hm_how-long-do-hamsters-live

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *